วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เข่าโก่งผิดรูป รักษาได้ ไม่ทรมานอีกต่อไป

เข่าโก่งผิดรูป รักษาได้ ไม่ทรมานอีกต่อไป














เข่า โก่งเข่าฉิ่ง นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทย สาเหตุหลักส่วนใหญ่เกิดเนื่องมาจากการเสื่อมของกระดูกและข้อของร่างกายโดย เฉพาะที่ตำแหน่งบริเวณข้อเข่า สาเหตุที่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่ปล่อยให้เกิดอาการจนเกิดการผิดรูปของ ข้อเข่าเพราะความกลัวต่อการผ่าตัดรักษา กลัวว่าหลังการผ่าตัดแล้วจะเดินไม่ได้ บางครั้งได้ยินมาจากเพื่อนบ้านว่าอย่าไปผ่าตัดแก้ไขเลยเดี๋ยวผ่าเสร็จกลับมา ก็เดินไม่ได้ ส่วนใหญ่โรคข้อเข่าเสื่อม ถ้านั่งอยู่ไม่ได้เดินลงน้ำหนักผู้ป่วยมักจะไม่มีความเจ็บปวด อาการปวดส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงขณะที่เดิน ถ้าขาโก่งมากๆจะทำให้ผู้ป่วยเดินลำบาก เดินเซมีโอกาสหกล้มได้บ่อยขึ้นเพราะสมดุลการทรงตัวของร่างกายเสียไป ทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักจากการล้มเพิ่มมากขึ้น
สำหรับโรคข้อ เข่าเสื่อมในระยะเบื้องต้นนั้นสามารถให้การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ การลดน้ำหนักของร่างกายอย่างน้อยประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักปัจจุบัน การหลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งการใช้ยาลดปวด ยาลดอักเสบ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบ และอาการปวด ซึ่งได้ผลดีในโรคข้อเข่าเสื่อมระยะเบื้อต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมานานจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตลอด เวลาในขณะที่เดินลงน้ำหนัก หรือเดินขึ้นบันได ร่วมกับอาการของข้อเข่าที่ผิดรูป มีข้อเข่าโก่ง หรือข้อเข่าฉิ่งมาก จนมีผลต่อการเดิน และสมดุลของร่างกาย และเป็นสาเหคุหลักอย่างหนึ่งของอาการปวดหลัง ร่วมกับอาการปวดร้าวลงสะโพก หรือต้นขา เพราะการที่ผู้ป่วยมีขาโก่งมากๆ ทำให้เวลาเดินผู้ป่วยจะเดินตัวอียง ยิ่งทำให้กระดูกสันหลังมีการเสื่อมมากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลัง ในบางครั้งทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วยจึงมีอาการปวดร้าวลงสะโพก และขา เมื่อมีอาการปวดเข่า และขาโก่งผิดรูปมากแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนับว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อแก้ไขความผิด ปกติ
ในปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดนั้นไม่ได้น่า กลัวอย่างที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือการผ่าตัดเอาส่วนของผิวกระดูกบริเวณข้อเข่าที่ไม่ดีออก รวมทั้งกระดูกงอกส่วนเกินที่เกิดจากกระบวนการเสื่อม มีการตัดแต่งกระดูกเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้น แล้วใช้วัสดุโลหะข้อเข่าเทียมครอบกระดูกในส่วนที่ตัดแต่งแล้ว วัตถุประสงค์ในการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมเพื่อให้ผู้ป่วยมีข้อเข่าที่ สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนปกติ แก้ไขการผิดรูปของข้อเข่า และที่สำคัญคือแก้ปัญหาเรื่องอาการปวดข้อเข่าเรื้อรัง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นสุข  นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยเดินได้เป็นปกติ ไม่เซ ลดความเสี่ยงต่อการล้มที่จะเป็นสาเหตุของกระดูกสะโพกหัก  และข้อเข่าเทียมที่ใช้ในผู้ป่วยให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานตลอดไป
เนื่องจาก การพัฒนาทั้งในเรื่องของ การดูแลเรื่องอาการปวดหลังผ่าตัดโดยแพทย์วิสัญญีที่จะช่วยควบคุมอาการปวด หลังผ่าตัดโดยการวางสายเพื่อให้ยาชาและยาแก้ปวดไว้ที่ตำแหน่งช่องว่างในโพรง กระดูกสันหลัง  หรือในตำแหน่งของเส้นประสาทที่บริเวณต้นขา เพื่อให้มีการปลดปล่อยยาชาและยาแก้ปวดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการปวด และสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าข้างที่ผ่าตัดได้เร็วยิ่งขึ้น และสามารถเดินลงน้ำหนักได้ภายใน 2 วันหลังการผ่าตัด ทำให้ผลการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัดได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็น อย่างมาก และลดความทุกข์ทรมานจากอาการปวดให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างดี นอกจากนี้วิธีการนี้ยังช่วยลดผลข้างเคียงจากการให้ยาแก้ปวดมอร์ฟีนเข้าทาง เส้นเลือดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะได้มาก
สำหรับ เทคนิคการผ่าตัดนั้นขนาดของแผลผ่าตัดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการลด อาการปวดของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ในบางครั้งการผ่าตัดด้วยขนาดแผลที่เล็กมาก จะทำให้มีการดึงรั้งของแผลมากยิ่งขึ้น ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนรอบๆบริเวณที่ผ่าตัดมีการบาดเจ็บมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากหลังการผ่าตัด การผ่าตัดด้วยแผลปกติจะช่วยให้แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถแก้ไขการผิดรูปของข้อ เข่า และวางตำแหน่งของข้อเทียมได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
การพัฒนา เครื่องมืออุปกรณ์ของข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมกับบุคคลและความคงทนของอุปกรณ์ ข้อเข่าเทียมที่ใช้ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น  มีการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดแทนกระดูกส่วนที่เสื่อม  ในการทดลองในห้องทดลองพบว่าถ้าลดแรงเสียดทานระหว่างผิวสัมผัสของข้อเข่า เทียมได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยทำให้การใช้งานของข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้นกว่า ปกติ อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมนั้นยังขึ้นกับเทคนิคของการผ่าตัด และประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การตัดแต่งกระดูในการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมได้ถูกต้องเหมาะสมด้วย





ใน วันนี้ผมขอยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทั้ง 2  ข้างที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อเข่า เดินลำบาก ข้อเข้าผิดรูป เดินเซและหกล้มได้ง่ายซึ่งทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างลำบากเป็นระยะเวลานาน ถึง 2 ปี     ผู้ป่วยมีอาชีพรับราชการ ตำรวจ ทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดเข่ามานาน ผู้ป่วยให้ประวัติว่า “เคยเจ็บเข่าจากอุบัติเหตุเล่นฟุตบอล จากนั้นก็เจ็บเข่าเป็นๆหายๆเรื่อยมา ในระยะสองปีมานี้อาการปวดเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ คนรอบข้างเริ่มทักโดยเฉพาะคุณแม่บอกว่าเดินไม่สวย เดินแปลกๆ เดินขาไม่ตรง เราก็ไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ จนมีอาการเจ็บมากจนทนไม่ไหว มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ได้ส่งตรวจทำการเอกซเรย์ เห็นได้ชัดเจนว่ากระดูกเข่าของเราชิดเข้าด้านในท่ายืนตรง แพทย์ได้แนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด ตอนแรกรู้สึกกังวล แต่เห็นกระดูกเข่าของตนเองจากภาพถ่ายรังสีแล้วก็คิดว่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้เข่าก็จะต้องชิดเข้ามากเรื่อยๆ ยังไงก็ต้องผ่าอยู่ดี และคิดว่าการเข้ารับการผ่าครั้งนี้ต้องเจ็บ ต้องปวดและใช้เวลาพักฟื้นนานแน่ๆ มีความกังวลว่ากระบวนการรักษา การผ่าตัดมันเป็นอย่างไร แพทย์จะทำอะไรกับเรามั่ง แต่หลังจากการได้คุยและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่จะทำการผ่าตัด พร้อมกับเข้าไปศึกษาถึงวิธีการรักษา การปฏิบัติตัวและตัวอย่างประวัติการรักษาจากผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดรักษา เปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว  ได้คลายความกังวลลงมาบ้าง หลังจากรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วไม่ได้เจ็บปวดอย่าง ที่คิดไว้ สองวันแรกหลังผ่าไม่ปวดเลย และเริ่มไปทำกายภาพ หัดเดินด้วยไม้สี่ขา หัดเหยียดเข่างอเข่า ประมาณวันที่สี่เริ่มมีอาการระบม ปวดแพทย์ได้ให้ยาแก้ปวด อาการปวดทุเลาลง ไปทำกายภาพต่อได้สบาย มาตอนนี้หลังผ่าประมาณยี่สิบวัน รู้สึกดีมาก แผลแห้งดี งอเหยียดเข่าได้เต็มที่ ยืนขาตรง เดินตรง เหมือนกับได้ชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง”  สำหรับผู้ป่วยรายนี้ เนื่องจากเข่าของผู้ป่วยมีอาการผิดรูปทั้ง 2 ข้าง ทำให้ไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ หลังจากที่ผมได้พูดคุยและอธิบายถึงข้อดีและความเสี่ยงจากการผ่าตัดเช่น โอกาสของการติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นในเส้นเลือดดำ การควบคุมอาการปวดหลังการผ่าตัด ก็ได้พิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมพร้อมกันทั้ง 2 ข้างให้กับผู้ป่วย หลังการผ่าตัดได้มีการให้ยาระงับปวดด้วยการวางสายเพื่อให้ยาลดอาการปวดที่ โพรงประสาทในส่วนกระดูกสันหลัง ซึ่งผลการผ่าตัดทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ลดอาการปวดข้อเข่าให้กับผู้ป่วย  แก้ไขความผิดรูปของข้อเข่าทั้ง 2 ข้าง ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อย่างปกติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นอย่างมาก 
สำหรับการปฏิบัติตน หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้แก่ การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ข้อเข่าสามารถเหยียดได้ตรง และงอข้อเข่าได้เพิ่มมากขึ้น  การฝึกเดิน และการควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่ยังอาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับยาแก้ปวดหลังการผ่าตัดประมาณ   1 – 3  เดือนแรกหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวด  สามารถขับรถได้หลังการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยสามารถควบคุมการทำงานของข้อเข่าได้ ดี และไม่มีอาการปวดข้อเข่าแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประมาณ  3 เดือนหลังการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปทำหัตถการเกี่ยวกับทันตกรรม  ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเพื่อที่จะรับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการทำหัตถการที่ฟันมายังที่บริเวณข้อเข่าข้างที่ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ชีวิตมีความสุขอีกครั้งหลังการผ่าตัดครับ


















ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com , 
www.taninnit.com ,
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง
 line ID search : keng3407

วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

สารพันคำถามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในการรักษาข้อเข่าเสื่อม

สารพันคำถามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในการรักษาข้อเข่าเสื่อม
    โรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในผู้สูงอายุ คนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเข่า โดยเฉพาะเวลาเดิน  ขาโก่งผิดรูป ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการเข่าเสื่อมเป็นมากขึ้นมักพบในคนอ้วน ร่วมกับกิจวัตรประจำวันที่มีการงอเข่ามากเกินไปเช่น การนั่งยองๆ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ มักจะเกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
•    เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ?
    การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมักจะพิจารณาในผู้ป่วยที่
1.    ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามากโดยเฉพาะเวลาเดิน หลังจากที่แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการต่างๆไปแล้วแต่อาการปวดเข่าของผู้ป่วยยังไม่ทุเลาลง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักมีอาการปวดเข่ามากเวลาเดิน โดยเฉพาะเวลาเดินขึ้นบันไดมักมีอาการปวดบริเวณด้านในของข้อเข่า อันเนื่องมาจากการที่มีกระดูกงอกออกมาเสียดสีกับเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆข้อเข่า ร่วมกับมีการอักเสบของเยื่อบุข้อจึงทำให้เกิดอาการบวมของข้อเข่า  เวลานั่งพักอยู่เฉยๆ ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวด อาการปวดมากเวลาเดินจึงทำให้ผู้ป่วยลดการใช้ชีวิตกิจวัตรประจำวัน และไม่อยากจะทำอะไร จึงมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
2.    ในกรณีที่ผู้ป่วยมีขาโก่งมากๆ แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เนื่องจากว่าในผู้ป่วยที่ขาโก่งผิดรูปมากๆนั้นจะมีผลทำให้เดินลำบาก การทรงตัวของผู้ป่วยเสียไป เดินได้ไม่ดี มีโอกาสหกล้มได้ง่าย และอาจจะเกิดกระดูกหักตามมา นอกจากนั้นขาที่โก่งที่ทำให้เกิดการเดินที่ผิดปกติ ยังมีผลต่อสมดุลของร่างกาย ทำให้มีการกระจายน้ำหนักของร่างกายผิดปกติไปโดยเฉพาะที่บริเวณกระดูกสันหลัง จึงมักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น และในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลังและชาร้าวลงขา ร่วมกับอาการปวดเข่าเนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย
•    วัตถุประสงค์และความคาดหวังของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ?
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ผู้ทำการรักษาต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและมีการกำหนดวัตถุประสงค์ และความคาดหวังของผู้ป่วยร่วมกันในการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะในบางครั้งถ้าผู้ป่วยมีความคาดหวังที่สูงมากๆ และผลที่ได้อาจจะไม่เป็นไปตามที่ผู้ป่วยคาดหวังก็อาจจะมีผลกระทบต่อความพึงพอใจของผู้ป่วย และคิดว่าการผ่าตัดนั้นไม่ประสบความสำเร็จ วัตถุประสงค์หลักในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นเพื่อ
1.    ลดอาการปวดเข่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้สะดวกเพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆได้ อาการปวดจะลดน้อยลงเป็นลำดับหลังการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่อาการปวดมักจะหายเป็นปกติประมาณ 3 เดือนหลังการผ่าตัด หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกชาที่บริเวณแผลผ่าตัด หรืออาจจะมีอาการคัน หรือปวดที่บริเวณแผลผ่าตัดได้บ้าง เนื่องจากว่าในขณะที่แพทย์ผ่าตัดอาจจะตัดเส้นประสาทเล็กๆที่ไปเลี้ยงผิวหนังในบริเวณที่ผ่าตัด จึงทำให้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกชา และความรู้สึกผิดปกติที่บริเวณแผลผ่าตัดได้ แต่ไม่มีผลอันตรายใดๆต่อผู้ป่วย
2.    แก้ไขความผิดรูปของข้อเข่า ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการเข่าโก่ง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะช่วยแก้ไขแนวของเข่าและขาข้างนั้นให้ตรง สามารถรับน้ำหนักได้ดี การเดิน และการทรงตัวของผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ช่วยเรื่องสมดุลของร่างกาย และป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มได้ง่ายซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดกระดูกหักตามมา 
3.    ทำให้คุณภาพของชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น  เมื่ออาการปวดและขาของผู้ป่วยอยู่ในแนวปกติ สามารถเดินได้ดีขึ้นกว่าก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ สามารถเดินทางท่องเที่ยว และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
4.    ช่วยทำให้อาการปวดหลังที่เกิดร่วมกับโรคข้อเข่าเสื่อมทุเลาลง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีปัญหาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและเกิดการกดทับเส้นประสาทร่วมกัน จึงทำให้นอกจากอาการปวดเข่าแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลัง ปวดชาร้าวลงขาร่วมด้วย หลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะช่วยทำให้ข้อเข่าสามารถรับน้ำหนักได้เป็นปกติ สมดุลของร่างกายดีขึ้น จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังที่ผู้ป่วยมีอยู่ด้วย

•    ถ้าผู้ป่วยอายุมากจะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหรือไม่?
ก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้น แพทย์จะต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพว่ามีความพร้อมกับการผ่าตัดก่อนหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจเลือด ตรวจการทำงานของหัวใจ การทำงานของไตและตับ สภาวะเกลือแร่และระดับน้ำตาลในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคความดัน  โรคเบาหวาน ก็มีความจำเป็นต้องควบคุมโรคต่างๆเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่แพทย์คำนึงถึงก่อนการผ่าตัดทุกครั้ง  ในเรื่องของอายุนั้นมักจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่นำมาพิจารณาเพื่อให้การรักษา อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจากโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างมากทำให้มีผลกระทบจ่อการใช้ชีวิตประจำวัน มาก  และเมื่อแพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วยพบว่ามีความพร้อมที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์ก็สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยได้แม้จะมีอายุมากเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย
นอกจากนี้ยังต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพของช่องปากและฟัน เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาการติดเชื้อหรือฟันผุหรือไม่ ถ้ามีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือมีปัญหาฟันผุ จำเป็นต้องรักษาปัญหาทางช่องปากและฟันให้เรียบร้อยก่อน เพราะเมื่อผู้ป่วยรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในขณะที่มีปัญหาเรื่องฟันผุ จะมีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียในช่องปากเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่บริเวณข้อเข่าเทียมที่ผ่าตัดไว้
ในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ทั้งในเรื่องของการผ่าตัดรักษา ประสบการณ์ของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด การพัฒนาเทคโนโลยีของข้อเข่าเทียมที่นำมาใส่แทนผิวข้อเข่าเดิมของผู้ป่วย รวมทั้งเทคนิคการดูแลควบคุมอาการปวดหลังการผ่าตัด ทำให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผลลัพธ์ที่ดี ผู้ป่วยมีความพึงพอใจกับผลการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นอย่างมาก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตและท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆได้อย่างมีความสุข อย่ากลัวเลยครับกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ท่านได้ประโยชน์จากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมากกว่าที่ท่านคิดครับ ความกลัวเรื่องการผ่าตัดอาจจะทำให้ท่านพลาดโอกาสที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของท่านดีขึ้นมากกว่าสภาพก่อนผ่าตัดครับในกรณีผู้ป่วยเข่าเสื่อมที่มีข้อบ่งชี้สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ท่านสามารถรับชมการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ตรงที่รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ที่ http://taninnit-oaknee.blogspot.com/2012/12/total-knee-replacement.html

 ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com ,
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407
















วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

สารพันปัญหาข้อเข่าเสื่อม 1

โรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในผู้สูงอายุทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเวลาเดิน ขาโก่ง การทรงตัวของร่างกายไม่ดี ร่างกายเสียสมดุล มีโอกาสเกิดการหกล้มได้ง่าย  มีผลทำให้เกิดกระดูกหักตามมาโดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ในคนไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมากถึง 6 ล้านคน
อาการปวดเข่าในโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากสาเหตุใด ?
   1.  มีการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า ทำให้ข้อเข่ามีอาการบวมตึง เนื่องจากเยื่อบุข้อที่อักเสบมีการสร้างน้ำไขข้อที่ไม่มีคุณภาพออกมาในปริมาณมากจึงทำให้เกิดอาการบวมตึงขึ้นภายในข้อเข่า คล้ายกับลูกโป่งที่ขยายตัวออกทำให้ข้อเข่าตึงมากขึ้นมีอาการปวดบริเวณหลังเข่าเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด
   2. เกิดกระดูกงอกรอบๆบริเวณข้อเข่าอันเนื่องมาจากเกิดความไม่มั่นคงของข้อเข่า ร่างกายตอบสนองด้วยการพยายามสร้างกระดูกรอบๆข้อเข่าขึ้นมาทดแทน กระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่นั้นไปเบียดเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆบริเวณข้อเข่ามีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเพิ่มมากขึ้นในอิริยาบถ ที่งอเข่านาน เช่นท่านั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ เวลาลุกขึ้นยืนจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดรอบๆบริเวณข้อเข่า
   3.มีการฉีกขาดของเส้นเอ็น และหมอนรองกระดูก มีการทำลายกระดูกที่บริเวณกระดูกใต้ต่อผิวข้อ
   4. กระดูกบริเวณข้อเข่าทั้ง2ด้านมาเสียดสีกันทำให้มีอากาการปวดมากขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยนั่งนานๆแล้วจะลุกขึ้นผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับต้องพยายามตั้งไข่ก่อนที่จะเดิน ไม่เหมือนกับช่วงที่เป็นหนุ่มสาว อันเนื่องมาจาก โรคข้อเข่าเสื่อมมีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งกระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่ลดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าและทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นไปอย่างคล่องตัว ดังนั้นเมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงจึงทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าลำบาก
   5.ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดเข่าจะทำให้ผู้ป่วยเสียสมดุลในการเดินทำให้เกิดอาการเดินกะเผลกซึ่งจะส่งผลต่อการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อบริเวณสันหลัง มีผลทำให้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงเข่าและน่องร่วมด้วย
   6. มีการทำลายกระดูกบริเวณข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น  เพิ่มความดันภายในโพรงกระดูกใต้ผิวข้อเข่า มีอาการปวดของกระดูกในตำแหน่งนั้นๆ

มีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง  ควรรับประทานยาลดปวดอะไรบ้าง ยาที่ใช้มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ?
ยาส่วนใหญ่ที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดรับประทานได้แก่
1.    ยาแก้ปวดพาราเซทตามอล เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงน้อย สามารถรับประทานยาพาราเซทตามอลเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ได้ถึง 6 เม็ดต่อวัน  แต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับแข็ง และโรคตับอักเสบควรระมัดระวังในการใช้ยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจจะมีผลทำให้อาการโรคตับที่เป็นอยู่แย่ลงได้ 
2.    ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดให้แก่ผู้ป่วย  เป็นกลุ่มยาที่มีประสิทธิภาพในการลดปวดได้ดี ปัญหาส่วนใหญ่ของยาในกลุ่มนี้มักจะมีผลข้างเคียงได้แก่ อาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หรืออาจทำให้เกิดอาการเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหารได้ ถ้าใช้ในผู้สูงอายุ หรือใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับการใช้ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด ข้อห้ามสำหรับการใช้ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต หรือไตวาย และผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง และกลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนที่หลอดเลือดหัวใจ

การฉีดยาสเตียรอยด์มีประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง ?

ในกรณีที่ข้อเข่ามีการอักเสบมาก ร่วมกับตรวจร่างกายแล้วพบว่าข้อเข่าบวม ตึง มีน้ำในข้อเข่าซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า สามารถรักษาด้วยการดูดเอาน้ำในข้อเข่าที่มีการอักเสบออกมาได้ เพื่อลดความดันภายในข้อเข่า ร่วมกับการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบได้โดยตรง จะช่วยลดอาการปวดให้ผู้ป่วยได้อย่างมาก ในมาตรฐานการรักษาทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเข้าข้อเข่ามากกว่า 3-5 ครั้งต่อปี อย่างไรก็ตามการใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าข้อเข่าได้บ่อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของยาสเตียรอยด์ที่ฉีดเข้าข้อเข่า และความรุนแรงของโรคข้อเข่าอักเสบ ซึ่งถ้าในกรณีที่มีการทำลายของข้อเข่าอย่างมาก ร่วมกับอาการขาโก่งมากๆมักจะแนะนำผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การใช้ไม้เท้าในการช่วยเดินมีประโยชน์หรือไม่? 
แนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมใช้ไม้เท้าในการช่วยพยุงตัวในขณะเดิน ให้ถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับข้อเข่าข้างที่ปวด เพราะจะช่วยในการแบ่งรับน้ำหนักของข้อเข่าข้างที่มีการอักเสบ มีอาการปวด เพราะส่วนใหญ่คนทั่วไปจะมีความเข้าใจผิดคิดว่าถ้ามีอาการปวดเข่าข้างไหนก็จะถือไม้เท้าข้างนั้น
ในกรณีที่มีอาการปวดเข่ามาเป็นระยะเวลานาน ขาโก่งมากๆ  โดยเฉพาะตอนที่เดิน  มีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งด้วยเทคโนโลยี และเทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบัน ช่วยทำให้ผลลัพธ์ของการผ่าตัดได้ผลดีมาก และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติ และท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆได้ตามใจหมาย

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com ,
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407








 VDO ลักษณะการเดินของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มีการเดินเอียง ขาโก่ง โอกาสหกล้มง่ายและเกิดกระดูกหักตามมา








VDO การเดิน โดยการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงการเดิน