วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดเข่า และเข่าบวม เข่าเสื่อม Case OA knee presented with right knee pain

ผู้ป่วยหญิงอายุ 75 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า และเข่าขวาบวม ผู้ป่วยเคยมีอาการปวดเข่ามานานประมาณ 4 ปีแล้ว ต่อมาในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์เริ่มมีอาการปวดเข่าเพิ่มมากขึ้น และพบว่าเข่าบวมขึ้นอย่างมาก เดินลำบาก

ตรวจร่างกายพบว่าเข่าขวามีลักษณะบวมมากกว่าเข่าซ้าย ทั้งในท่าเหยียดเข่า และในท่างอเข่า



 เห็นว่าเข่าขวาบวมกว่าเข่าซ้ายชัดเจนครับ 


 ทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงพบว่ามีนำ้อยู่ในข้อเข่า (สีดำ)


 จากภาพจะคลื่นเสียงความถี่สูงจะเห็นลักษณะของกระดูกงอกที่บริเวณของกระดูกบริเวณข้อเข่า



 จากภาพจะคลื่นเสียงความถี่สูงจะเห็นลักษณะของกระดูกงอกที่บริเวณของกระดูกบริเวณข้อเข่าไปเบียดกกับเส้นเอ็น ทำให้เกิดอาการปวดเวลางอเข่ามากๆ หรือนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ



 ทำการรักษาด้วยการดูดนำ้ในข้อเข่าออก และฉีดยาสเตียรอยด์ โดยการใช้เครื่องเสียงความถี่สูงในการระบุตำแหน่งที่ฉีดยา และประเมินตำแหน่งของนำ้ในข้อเข่า



ลักษณะของนำ้ในข้อเข่าที่มีการอักเสบ


วิธีปฏิบัติตัว 
  1. หลีกเลี่ยงการคุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ งอเข่ามากๆ 
  2. ถ้านำ้หนักมากต้องลดนำ้หนัก หลีกเลี่ยงการรับระทานอาหารประเภทแป้ง ข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ขนมปัง 
  3. ห้ามยกของหนัก 
  4. ทานยาลดการอักเสบ 
ถ้าเข่าเสื่อมมากๆ ร่วมกับมีขาโก่งผิดรูปแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหว เดินได้สะดวกมากขึ้น และอาการปวดลดลง 

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โรคข้อเข่าเสื่อม ผ่าตัดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้สูงอายุใน ประเทศไทย จากสถิติพบว่าประชาชนคนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมกว่า 6 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่ มักมีอาการปวดเข่าเวลาเดิน โดยเฉพาะตอนเดินขึ้นบันได อาการปวดส่วนมากมักเป็นบริเวณด้านในของข้อเข่า เวลานั่งอยู่เฉย ๆ มักไม่มีอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเดิน สูญเสียความมั่นใจ มีผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมและขาโก่งมาก ๆ นั้นมีผลทำให้การเดินของผู้ป่วยผิดปกติไป มีโอกาสเกิดการหกล้มและทำให้เกิดการหักของกระดูกบริเวณตะโพก ทำให้ผู้ป่วยเกิดทุพพลภาพเพิ่มมากขึ้น
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเริ่มต้นด้วยการบรรเทาอาการปวด การปรับเปลี่ยนพฤติ กรรมในชีวิตประจำวันมีความสำคัญมาก พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งคุกเข่าขัดสมาธิ พับเพียบ โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ชอบนั่งสมาธิ เพราะการนั่งในท่าที่งอเข่ามาก ๆ จะทำให้เพิ่มแรงดันภายในเข่า และกระดูกที่งอกจากโรคข้อเข่าเสื่อมไปกดทับกับเนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆ เข่า จะทำให้ท่านมีอาการปวดมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักร่างกายมากจำเป็นต้องลดน้ำหนัก ซึ่งส่วนใหญ่ที่แนะนำให้ลดประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว
การใช้ยาลดปวดเพื่อบรรเทาอาการก็ควรระมัดระวัง ยาที่ค่อนข้างจะปลอดภัยมากที่สุดคือยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าได้ ต้องระวังการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เวลาทานแพทย์มักจะแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที เพราะจะมีผลต่อกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นอาจมีผลต่อไตได้ หากจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มนี้ควรจะรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำ มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายสามารถขับยานี้ออกไปได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องไตควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้การทำงานของไตแย่ลง
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข่าเสื่อมมาก และขาโก่งผิดรูป มีผลต่อการใช้งานของข้อเข่าในชีวิตประจำวัน เดินลำบาก แนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ด้วยเทคโนโลยี ความรู้และทักษะของแพทย์ในปัจจุบันทำให้การรักษาข้อเข่าด้วยวิธีการผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ผลดีมาก ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน  2 วันหลังการผ่าตัด สิ่งที่ผู้ป่วยกลัวการผ่าตัดรักษามี  2 ประการหลัก ๆ คือ 1. ผ่าแล้วกลัวเดินไม่ได้  และ 2. กลัวอาการปวดหลังผ่าตัด อย่างไรก็ตามด้วยความรู้ และความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ผลการรักษาผ่าตัดได้ผลดีเยี่ยม หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดน้อยมาก และสามารถลุกเดินได้หลังผ่าตัด และสามารถเดินได้โดยไม่ใช้ไม้เท้าชนิดวอล์กเกอร์ ภายใน 3 เดือนหลังผ่าตัด วิธีการลดอาการปวดหลังการผ่าตัด มีการนำเทคนิคของการระงับความรู้สึกที่บริเวณสันหลัง หรือการระงับความรู้สึกที่เส้นประสาทโดยตรง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดลดน้อยลงเป็นอย่างมาก รวมทั้งเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการผ่าตัดมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก และสามารถกลับไปทำงาน และช่วยเหลือตนเองได้เร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีเทคนิคการเย็บแผลชั้นใน และใช้กาวทาบริเวณแผลผ่าตัดซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาตัดไหมหลังผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดข้อเข่าเทียมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ท่านต้องไปตรวจเช็กสุขภาพของฟันเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีฟันผุ เพราะฟันผุอาจทำให้มีเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เข่าข้างที่ทำการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดทุกครั้งแพทย์จำเป็นต้องตรวจเช็กสุขภาพของท่านเกี่ยวกับโรคที่ ท่านเป็นอยู่ หรือป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนเสมอ เช่น การตรวจการทำงานของหัวใจ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไขกระดูก การทำงานของไตและตับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยสูงสุดและให้ผลการรักษาที่ดีเยี่ยม ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้จากการผ่าตัดได้แก่ การติดเชื้อที่บริเวณแผลผ่าตัดซึ่งสามารถเกิดได้ประมาณร้อยละ 1 ภาวะลิ่มเลือดที่ขาอุดตันก็มีโอกาสเกิดได้ แต่น้อยมาก
ปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทำให้ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นอย่างมาก สามารถใช้งานของข้อเข่าได้เป็นอย่างดี ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมีความพึงพอใจต่อผลการรักษาสูง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่น่ากลัวอย่างที่คิดครับ.



 ภาพขาที่โก่งผิดรูป เดินลำบากมีโอกาสหกล้ม และเกิดกระดูกสะโพกหักได้ง่าย


 การฉีดยาระงับความรู้สึกบริเวณกระดูกสันหลัง ช่วยระงับอาการปวดหลังผ่าตัดได้ดีมากๆ

 ผู้ป่วยฝึกเดิน 2 วันหลังผ่าตัด



 ภาพรังสีแสดงลักษณะของข้อเข่าเสื่อมที่มีการแคบของข้อเข่า

 แผลผ่าตัด ปิดแผลโดยใช้ไหมละลาย และกาวทาปิดแผล ไม่ต้องตัดไหมหลังผ่าตัด

 VDO ผู้ป่วยหลังผ่าตัด หัดเดินวันที่ 2 หลังผ่าตัด


VDO วิธีการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

VDO วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม



ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407