วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

สารพันคำถามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในการรักษาข้อเข่าเสื่อม

สารพันคำถามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในการรักษาข้อเข่าเสื่อม
    โรคข้อเข่าเสื่อมนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในผู้สูงอายุ คนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคน ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเข่า โดยเฉพาะเวลาเดิน  ขาโก่งผิดรูป ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการเข่าเสื่อมเป็นมากขึ้นมักพบในคนอ้วน ร่วมกับกิจวัตรประจำวันที่มีการงอเข่ามากเกินไปเช่น การนั่งยองๆ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ มักจะเกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
•    เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ?
    การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมักจะพิจารณาในผู้ป่วยที่
1.    ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามากโดยเฉพาะเวลาเดิน หลังจากที่แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการต่างๆไปแล้วแต่อาการปวดเข่าของผู้ป่วยยังไม่ทุเลาลง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักมีอาการปวดเข่ามากเวลาเดิน โดยเฉพาะเวลาเดินขึ้นบันไดมักมีอาการปวดบริเวณด้านในของข้อเข่า อันเนื่องมาจากการที่มีกระดูกงอกออกมาเสียดสีกับเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆข้อเข่า ร่วมกับมีการอักเสบของเยื่อบุข้อจึงทำให้เกิดอาการบวมของข้อเข่า  เวลานั่งพักอยู่เฉยๆ ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวด อาการปวดมากเวลาเดินจึงทำให้ผู้ป่วยลดการใช้ชีวิตกิจวัตรประจำวัน และไม่อยากจะทำอะไร จึงมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
2.    ในกรณีที่ผู้ป่วยมีขาโก่งมากๆ แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เนื่องจากว่าในผู้ป่วยที่ขาโก่งผิดรูปมากๆนั้นจะมีผลทำให้เดินลำบาก การทรงตัวของผู้ป่วยเสียไป เดินได้ไม่ดี มีโอกาสหกล้มได้ง่าย และอาจจะเกิดกระดูกหักตามมา นอกจากนั้นขาที่โก่งที่ทำให้เกิดการเดินที่ผิดปกติ ยังมีผลต่อสมดุลของร่างกาย ทำให้มีการกระจายน้ำหนักของร่างกายผิดปกติไปโดยเฉพาะที่บริเวณกระดูกสันหลัง จึงมักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้น และในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลังและชาร้าวลงขา ร่วมกับอาการปวดเข่าเนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย
•    วัตถุประสงค์และความคาดหวังของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ?
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ผู้ทำการรักษาต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและมีการกำหนดวัตถุประสงค์ และความคาดหวังของผู้ป่วยร่วมกันในการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะในบางครั้งถ้าผู้ป่วยมีความคาดหวังที่สูงมากๆ และผลที่ได้อาจจะไม่เป็นไปตามที่ผู้ป่วยคาดหวังก็อาจจะมีผลกระทบต่อความพึงพอใจของผู้ป่วย และคิดว่าการผ่าตัดนั้นไม่ประสบความสำเร็จ วัตถุประสงค์หลักในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นเพื่อ
1.    ลดอาการปวดเข่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้สะดวกเพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆได้ อาการปวดจะลดน้อยลงเป็นลำดับหลังการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่อาการปวดมักจะหายเป็นปกติประมาณ 3 เดือนหลังการผ่าตัด หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกชาที่บริเวณแผลผ่าตัด หรืออาจจะมีอาการคัน หรือปวดที่บริเวณแผลผ่าตัดได้บ้าง เนื่องจากว่าในขณะที่แพทย์ผ่าตัดอาจจะตัดเส้นประสาทเล็กๆที่ไปเลี้ยงผิวหนังในบริเวณที่ผ่าตัด จึงทำให้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกชา และความรู้สึกผิดปกติที่บริเวณแผลผ่าตัดได้ แต่ไม่มีผลอันตรายใดๆต่อผู้ป่วย
2.    แก้ไขความผิดรูปของข้อเข่า ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอาการเข่าโก่ง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะช่วยแก้ไขแนวของเข่าและขาข้างนั้นให้ตรง สามารถรับน้ำหนักได้ดี การเดิน และการทรงตัวของผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ช่วยเรื่องสมดุลของร่างกาย และป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้มได้ง่ายซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดกระดูกหักตามมา 
3.    ทำให้คุณภาพของชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น  เมื่ออาการปวดและขาของผู้ป่วยอยู่ในแนวปกติ สามารถเดินได้ดีขึ้นกว่าก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ สามารถเดินทางท่องเที่ยว และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
4.    ช่วยทำให้อาการปวดหลังที่เกิดร่วมกับโรคข้อเข่าเสื่อมทุเลาลง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีปัญหาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและเกิดการกดทับเส้นประสาทร่วมกัน จึงทำให้นอกจากอาการปวดเข่าแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลัง ปวดชาร้าวลงขาร่วมด้วย หลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะช่วยทำให้ข้อเข่าสามารถรับน้ำหนักได้เป็นปกติ สมดุลของร่างกายดีขึ้น จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังที่ผู้ป่วยมีอยู่ด้วย

•    ถ้าผู้ป่วยอายุมากจะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหรือไม่?
ก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้น แพทย์จะต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพว่ามีความพร้อมกับการผ่าตัดก่อนหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจเลือด ตรวจการทำงานของหัวใจ การทำงานของไตและตับ สภาวะเกลือแร่และระดับน้ำตาลในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคความดัน  โรคเบาหวาน ก็มีความจำเป็นต้องควบคุมโรคต่างๆเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่แพทย์คำนึงถึงก่อนการผ่าตัดทุกครั้ง  ในเรื่องของอายุนั้นมักจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่นำมาพิจารณาเพื่อให้การรักษา อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจากโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างมากทำให้มีผลกระทบจ่อการใช้ชีวิตประจำวัน มาก  และเมื่อแพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วยพบว่ามีความพร้อมที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์ก็สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเทียมให้ผู้ป่วยได้แม้จะมีอายุมากเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย
นอกจากนี้ยังต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพของช่องปากและฟัน เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีปัญหาการติดเชื้อหรือฟันผุหรือไม่ ถ้ามีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือมีปัญหาฟันผุ จำเป็นต้องรักษาปัญหาทางช่องปากและฟันให้เรียบร้อยก่อน เพราะเมื่อผู้ป่วยรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในขณะที่มีปัญหาเรื่องฟันผุ จะมีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียในช่องปากเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่บริเวณข้อเข่าเทียมที่ผ่าตัดไว้
ในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ทั้งในเรื่องของการผ่าตัดรักษา ประสบการณ์ของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด การพัฒนาเทคโนโลยีของข้อเข่าเทียมที่นำมาใส่แทนผิวข้อเข่าเดิมของผู้ป่วย รวมทั้งเทคนิคการดูแลควบคุมอาการปวดหลังการผ่าตัด ทำให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ผลลัพธ์ที่ดี ผู้ป่วยมีความพึงพอใจกับผลการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นอย่างมาก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตและท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆได้อย่างมีความสุข อย่ากลัวเลยครับกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ท่านได้ประโยชน์จากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมากกว่าที่ท่านคิดครับ ความกลัวเรื่องการผ่าตัดอาจจะทำให้ท่านพลาดโอกาสที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของท่านดีขึ้นมากกว่าสภาพก่อนผ่าตัดครับในกรณีผู้ป่วยเข่าเสื่อมที่มีข้อบ่งชี้สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ท่านสามารถรับชมการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ตรงที่รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ที่ http://taninnit-oaknee.blogspot.com/2012/12/total-knee-replacement.html

 ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com ,
Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407